วิธีอาบน้ำให้ทารกอย่างถูกวิธี

ก่อนอื่นคุณพ่อคุณแม่ต้องมารู้จักก่อนว่าวิธีทำความสะอาดทารกนั้นมีอยู่ด้วยกัน 2 วิธี คือ การเช็ดตัวและการอาบน้ำ

การเช็ดตัว

ทำในกรณีที่สายสะดือยังไม่หลุด ควรทำความสะอาดวันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น เพราะถ้าอาบน้ำจะทำให้สะดือแฉะ ทำให้เชื้อโรคเข้าสู่ทารกได้ง่าย

การอาบน้ำ

เมื่อเด็กอายุได้ 7-10 วัน สายสะดือจะแห้งและหลุด ซึ่งเมื่อเป็นอย่างนี้ก็ให้เปลี่ยนจากการเช็ดตัวมาเป็นอาบน้ำแทน เพื่อความทั่วถึงในการทำความสะอาด

การสระผม

ไม่ว่าจะเป็นการเช็ดตัวหรืออาบน้ำ ควรสระผมให้ลูกด้วยวันละ 1 ครั้ง แต่ถ้าอากาศเย็นอาจสระวันเว้นวันแทน

การอาบน้ำให้ลูก

ไม่เพียงแต่จะทำให้ลูกสบายกายเท่านั้น เพราะถ้าคุณพ่อคุณแม่ทำให้ลูกด้วยความใส่ใจ เอาใจใส่ และอ่อนโยน สิ่งเหล่านี้ทำให้ลูกสัมผัสได้ถึงความอบอุ่น ความปลอดภัย และก่อให้เกิดสัมพันธภาพ และความรักที่มีต่อกันในที่สุดค่ะ

เรื่องของเด็กแรกเกิดที่คุณยังไม่รู้

babies

เสียงร้องเหมือนกันหมด

เคยได้ยินมาว่าเสียงร้องของเด็กจะมีความแตกต่างกัน และบ่งบอกความต้องการของลูกได้ แต่ถ้าลูกร้องทีไรก็เสียงเดียวกันหมด นั่นเป็นเรื่องปกติที่ช่วงแรกๆ คุณพ่อคุณแม่จะรู้สึกแบบนั้น แต่อย่าได้กังวลไป เพราเวลาจะช่วยทำให้สามารถแยกแยะเสียงได้เอง ลองตอบสนองลูกขั้นพื้นฐานไปเรื่อยๆ สักพักก็รู้ใจกันเอง

ลูกไม่น่ารักเหมือนในหนังสือเลย

นั่นเป็นเพียงมายาคติเท่านั้นเอง เพราะแท้ที่จริงแล้วเด็กแรกเกิดสัดส่วนจะดูแปลกตากว่าที่คุณเคยเห็น เพราะกว่าจะออกมาได้เด็กต้องเดินทางผ่านกระดูกเชิงกราน กระดูกตรงกระโหลกศีรษะที่ยังปิดไม่สนิท จะเปลี่ยนรูปชั่วคราวเพื่อสะดวกต่อการคลอดและไม่เป็นอันตรายต่อสมองน้อยๆ ด้วย อีกทั้งของเหลวในร่างกายยังทำให้ลูกตาดูบวมๆ จมูกบี้ๆ อีกต่างหาก แต่อย่าตกใจไป เพราะลูกน้อยจะค่อยๆ เต่งตึง ดูน่ารักน่าชังได้ในอีก 1-2 สัปดาห์

ตัวแค่นี้ถีบเก่งจัง

ช่วงแรกเกิดเด็กจะมีพื้นที่ในการเคลื่อนไหวแขนขามากกว่าตอนอยู่ในท้องแม่ แต่ก็ยังบังคับกล้ามเนื้อแขนขาไม่เอาไหนเลย จึงยกสะเปะสะปะไปเรื่อย เหมือนกับกระตุกหรือสะดุ้งตลอด แต่อาการนี้จะลดลงภายใน 2-3 สัปดาห์ แล้วจะค่อยๆ หายไปภายใน 3 เดือน

ลูกอัณฑะใหญ่เกินตัว

ทั้งนี้ เพราะฮอร์โมนจากแม่ ซึ่งอยู่ในร่างกายและเนื้อเยื่อของเด็กยังถูกขับออกมาไม่หมด จึงทำให้เด็กผู้ชายมีอัณฑะที่ดูใหญ่ ส่วนเด็กผู้หญิงก็มีอวัยวะเพศดูบวมๆ ในช่วง 2-3 วันแรก ถ้าไม่เจ็บหรือมีอาการอักเสบก็สบายใจหายห่วงได้

ทำไมหิวบ่อยจัง

ช่วงแรกเกิดเป็นช่วงที่ต้องคอยให้นมลูกตลอด 24 ชั่วโมง เนื่องจากเด็กที่กินนมแม่จะหิวบ่อย เพราะนมแม่ย่อยและดูดซึมง่ายกว่านมผง ยิ่งช่วง 6 เดือนแรกจะเป็นช่วงที่ทำน้ำหนักของลูกขึ้นมาประมาณสองเท่าของตอนแรกเกิด แต่คุณแม่ไม่ต้องเป็นห่วง ทำใจให้สบายได้เลย เพราะเห็นลูกกินได้น่าจะดีใจมากกว่า

มือเท้าเย็น

ส่วนใหญ่เวลารู้สึกว่าลูกมือเท้าเย็น มักจะหาผ้าห่มมาห่มเพิ่ม แต่ความจริงเด็กแรกเกิดมีโอกาสที่มือเท้าจะเย็นกว่าอวัยวะส่วนอื่นได้ เพราะระบบหมุนเวียนเลือดกำลังพัฒนา จึงต้องส่งกำลังเลือดไปเลี้ยงอวัยวะหลักๆ อวัยวะที่อยู่ไกลอย่างมือและเท้าจึงได้รับช้า ทั้งนี้ ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3 เดือน ระบบหมุนเวียนต่างๆ ในร่างกายจึงจะเข้าที่ ฉะนั้น ถ้าสังเกตดูว่าผิวของลูกออกสีชมพู และอุณหภูมิห้องไม่เย็นมาก ก็ยังไม่จำเป็นต้องใส่เสื้อผ้าให้ลูก แค่ให้ลูกออกกำลังกาย ยกแข้งยกขาก็พอ จะช่วยทำให้ระบบไหลเวียนสมบูรณ์เร็วขึ้น

มีเลือดปนมากับผ้าอ้อม

ฮอร์โมนจากแม่บางครั้งเป็นเหตุให้มีเลือดออกมาจากช่องคลอดของเด็กผู้หญิงแรกเกิดได้ ซึ่งบางครั้งอาจไม่ใช่เลือดแต่เป็นสีของปัสสาวะที่ดูเข้ม จึงไม่ต้องกังวลถ้าคุณเห็นรอยเปื้อนเลือดเล็กน้อยติดอยู่กับผ้าอ้อมในช่วงสัปดาห์แรกหลังคลอด

ผายลมบ่อย

เด็กที่กินนมแม่ อึลูกจะมีสีเหลืองทองและนิ่ม ไม่เป็นก้อนๆ ถ้าเลี้ยงด้วยนมขวดจะมีสีเข้มหรือคล้ำกว่า บางคนถ่ายทุกวันหรือมากกว่าหนึ่งครั้งต่อวัน บางคนสองสามวันถ่ายที แต่ถ้าไม่เป็นก้อนแข็งก็ไม่มีอะไรน่าห่วง อีกทั้งเด็กบางคนก็ผายลมเป็นว่าเล่น โดยเฉพาะหลังกินนมแม่ ถ้าไม่ปวดท้อง ไม่งอแง ไม่บวม ก็ถือว่าสบายดี ไม่ต้องกลัวว่าลูกจะท้องเสีย

จามตลอดเวลา

ธรรมชาติของเด็กแรกเกิดอาจจะจามบ่อย แต่ไม่ได้หมายความว่าป่วยหรือเป็นหวัด แต่เป็นเพราะเด็กกำลังทำให้ทางเดินหายใจของตัวเองโล่งสบาย และหลังจากให้นมลูกแล้ว อาจเห็นว่าลูกจาม เพราะระหว่างดูดนม แกต้องกลั้นหายใจเป็นจังหวะ ฉะนั้น ถ้าจามโดยไม่มีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ไข้ น้ำมูก งอแง แสดงว่าลูกน้อยสบายดี ไม่ต้องกังวล

ผิวหนังลอก

เมื่อเด็กคลอดออกมา ไขมันที่เคลือบผิวหนังตอนอยู่ในท้องจะหลุดออก ทำให้ผิวหนังชั้นนอกแห้งและเริ่มลอก แต่อีก 1-2 สัปดาห์ ผิวหนังเก่าจะหลุดออก พร้อมกับมีผิวหนังใหม่ที่ใส เต่งตึงมาแทนที่ ทั้งนี้ ต้องระวัง อย่าแกะ ดึง หรือขัดเด็ดขาด ควรปล่อยให้ผิวหนังหลุดลอกออกมาเอง

บางทีเหมือนหยุดหายใจ

เพราะว่ากล้ามเนื้อในระบบทางเดินหายใจของเด็กยังไม่แข็งแรงเต็มที่ การกระเพื่อมของทรวงอกจึงมีน้อย แต่พอผ่านไปประมาณ 6 สัปดาห์ คุณแม่จะสังเกตเห็นการหายใจของลูกชัดขึ้น แต่หากรู้สึกว่าลูกหยุดหายใจเกิน 20 วินาที นั่นเป็นสัญญาณอันตราย ต้องรีบพาไปพบหมอด่วน

คราวนี้ก็คงหายข้องใจกันแล้วกับอาการต่างๆ ของเด็กแรกเกิด…ลองนำไปศึกษากันให้ละเอียดดูนะคะ เพื่อความสบายใจของคุณพ่อคุณแม่เอง…

เรียนรู้สู่การเป็นคนรู้ใจลูกรัก

เทคนิคที่เราได้นำมาแนะนำในครั้งนี้ เป็นคำชี้แนะจากคุณหมอผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับเด็ก ซึ่งจะช่วยตอบปัญหาของคุณพ่อคุณแม่ได้ว่าทำไมลูกถึงทำแบบนั้น ทำไมถึงทำแบบนี้ ให้กระจ่างจนหายข้องใจ และจะทำให้คุณเข้าถึงความคิดของลูกรักได้ดีขึ้นอีกด้วยค่ะ

การสื่อสารแบบสองทาง

เทคนิคที่ว่านี้คือ การสื่อสารแบบสองทางค่ะ คือถ้าคุณพ่อคุณแม่อยากรู้ว่าลูกกำลังคิดอะไรอยู่ก็ให้ถามลูกตรงๆ อยากรู้ว่าลูกทำแบบนั้นเพราะอะไร ก็ให้ถามไปเลย ซึ่งลูกก็จะพูดออกมาให้ฟังว่าเหตุผลที่เค้าต้องทำแบบนั้นเพราะอะไร เป็นวิธีที่ง่ายมากๆ ซึ่งคุณพ่อคุณแม่อาจมองข้ามไป ถึงแม้ว่าจะสนิทชิดเชื้อกันเพียงใด แต่เรื่องของจิตใจนั้น บางครั้งบางคราวก็ไม่ใช่เรื่องที่จะคาดเดาหรือรู้ล่วงหน้ากันได้ง่ายๆ

และเพื่อให้เทคนิคนี้ได้ผลเต็มร้อย นอกจากการจะถามแล้ว ขอให้คุณพ่อคุณแม่เพิ่มความพิเศษเป็นขั้นแอดวานซ์ใส่เข้าไปอีกนิด นั่นคือต้องฟังลูกด้วยค่ะ เป็นการถามและฟังเพื่อสร้างความเข้าใจ ซึ่งจะเป็นเทคนิคพิเศษที่จะทำให้คุณพ่อคุณแม่ล่วงรู้ความในใจ ความคิด อันนำมาไปสู่พฤติกรรมที่แสดงออกมาของคุณลูก จนพัฒนาไปเป็นคนที่รู้ใจลูกมากที่สุดต่อไปค่ะ

ให้ลูกเป็นคนเลือกและตัดสินใจด้วยตัวเอง

อีกอย่างคุณพ่อคุณแม่ควรฝึกให้ลูกเป็นคนเลือก หรือตัดสินใจอะไรเป็นได้ด้วยตัวเอง ลองเปิดโอกาสให้คุณลูกได้แสดงความคิดเห็น ได้บอกเล่าความรู้สึก และความต้องการ ซึ่งการเปิดโอกาสนี้จำเป็นนะคะ เพราะนี่คือกระบวนการของการเติบโต เพราะเด็กที่ไม่เคยได้คิด ไม่เคยได้สำรวจที่มาที่ไปของความรู้สึกของตนเอง ไม่เคยได้ตัดสินใจเอง ไม่เคยได้ทำอะไรเองนอกจากเป็นผู้รอรับคำสั่งของคุณพ่อคุณแม่ สมองของเขาก็จะไม่ได้พัฒนาเท่าที่ควร ไม่ได้เรียนรู้การแยกแยะเหตุผล และนั่นจะทำให้เขาพลาดอะไรไปหลายอย่างในชีวิตทีเดียวค่ะ